วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ปี54 ไตรมาส2 พุ่งเฉียดแสนล้าน

แบงก์ชาติจับตา "สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์" พุ่งกระฉูด เผยไตรมาส 2 เติบโตสูงสุดเฉียด แสนล้าน ดันหนี้ภาคครัวเรือนพุ่ง 16.5% ด้านผู้ประกอบการลีสซิ่งยันสินเชื่อเช่าซื้อเป็นดีมานด์ตลาดแท้จริง เติบโตตามยอดขายรถใหม่ไม่ใช่ฟองสบู่เพราะไม่มีการเก็งกำไรเหมือนอสังหาฯ ยอมรับมาตรการคุม "เงินดาวน์-ดอกเบี้ย" ช่วยยกระดับคุณภาพหนี้มั่นใจปีหน้าพอร์ตเช่าซื้อรถโตถึง 8.3 แสนล้านบาท

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แม้ว่าภาวะหนี้ในระบบโดยรวมตอนนี้ยังไม่ได้อยู่ในระดับที่น่ากังวล โดยการขยายตัวในอัตราที่สูงเป็นผลจากการฟื้นตัวช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากที่ภาวะหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นประเด็นที่ ธปท.มีการติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งมาจากการขยายตัวทั้งในส่วนของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและเช่าซื้อ โดยส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถนั้นเห็นการขยายตัวสูง เนื่องจากในช่วงหลังธนาคารพาณิชย์หันมาให้ความสนใจในตลาดนี้มากขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำ ทำให้การแข่งขันในตลาดค่อนข้างรุนแรง

ทำให้มีความเป็นไปได้ ที่ภาคครัวเรือนจะมีการเปลี่ยนพฤติกรรมจากการกู้สินเชื่อบุคคล มาเป็นการใช้สินเชื่อรถแลกเงินมากขึ้น เนื่องจากเป็นการกู้ที่ได้ดอกเบี้ยต่ำกว่า และเป็นการลดความเสี่ยงในระบบธนาคารพาณิชย์ เพราะสินเชื่อมีหลักประกัน ต่างจากสินเชื่อบุคคลที่เสี่ยงสูงเพราะไม่มีหลักประกัน

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ (ธปท.) กล่าวว่า ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา สินเชื่อภาคครัวเรือนยังขยายตัวระดับสูงที่ 16.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และคาดว่าจากการที่ธุรกิจยานยนต์ฟื้นตัวจากเหตุการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่นในช่วงครึ่งปีหลัง อาจทำให้ความต้องการสินเชื่อของภาคครัวเรือน ซึ่งรวมถึงสินเชื่อเช่าซื้อมากขึ้นได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่เห็นสัญญาณการชำระหนี้ที่ผิดปกติ แต่ในมุมของ ธปท.เห็นว่า สินเชื่อในกลุ่มเช่าซื้อมีการเติบโตที่รวดเร็วมาก ซึ่ง ธปท.ไม่ได้ประมาท โดยมีการติดตามสถานการณ์สินเชื่อเช่าซื้อใกล้ชิด

ข้อมูลของ ธปท.ระบุว่า ณ ไตรมาส 2 ระบบธนาคารพาณิชย์มีสินเชื่อคงค้างอยู่ 8,463,737 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2553 สุทธิ 680,403 ล้านบาท หรือ 8.74% โดยสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล เพิ่มขึ้นสุทธิ 149,917 ล้านบาท หรือ 7.41% โดยสินเชื่อเพื่อการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ มีการขยายตัวมากสุด คือเพิ่มขึ้นสุทธิ 72,736 ล้านบาท หรือ 14.58%

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า การแข่งขันของธุรกิจลีสซิ่ง นอกจากการให้สินเชื่อรถใหม่แล้ว ขณะนี้พบว่าสินเชื่อรีไฟแนนซ์ หรือจำนำทะเบียนรถยนต์ เป็นอีกตลาดที่มีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง โดยมีผู้นำตลาดรายใหญ่โดดเข้ามาแข่งขันอย่างรุนแรง ทำให้ตลาดนี้มีการเติบโตอย่างมาก อาทิ "กรุงศรี คาร์ ฟอร์ แคช" ที่มีแคมเปญดอกเบี้ย 0.30% ต่อเดือน วงเงินสูงสุด 100% ผ่อนนานสูงสุด 72 เดือน โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน รวมถึงลีสซิ่งกสิกรไทยก็เพิ่งออก "สินเชื่อรถช่วยได้กสิกรไทย" ที่คิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าที่ต้องการความยืดหยุ่น สามารถปิดบัญชีได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องเสียค่าดอกเบี้ยส่วนที่เหลือ พร้อมกับขยายวงเงินสินเชื่อให้สูงสุดถึง 100% ของมูลค่ารถ หรือโครงการ "รถแลกเงินของธนชาต" เป็นต้น

ด้านนายอิสระ วงศ์รุ่ง ประธานกรรมการ สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ทิศทางตลาดเช่าซื้อรถยนต์ที่เติบโตอย่างร้อนแรงมากในช่วงนี้ แม้จะอยู่ท่ามกลางแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นก็ตาม แต่ถือว่าดอกเบี้ยเช่าซื้อยังต่ำเมื่อเทียบกับสินเชื่อหลาย ๆ ประเภท และเชื่อมั่นว่าตลาดนี้เติบโตไปตามดีมานด์ของตลาดรถใหม่ ไม่ได้เกิดจากการเร่งเครื่องสินเชื่อ หรือเกิดภาวะเก็งกำไรแต่อย่างใด

"ตลาดรถยนต์คงไม่มีใครเข้ามาเก็งกำไรเหมือนตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพราะรถยนต์มีแต่มูลค่าลดลง คงไปเก็งกำไรไม่ได้ และอายุสินเชื่อก็สั้นกว่า สินเชื่อบ้านค่อนข้างมาก ซึ่งในการพิจารณาสินเชื่อก็ต้องดูว่าลูกค้ามีความสามารถชำระเงิน อาชีพชัดเจน มีรายได้สม่ำเสมอเป็นหลักอยู่แล้ว"

นายอิสระกล่าวอีกว่า ปัจจัยหลักในการสะท้อนความเสี่ยงสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ก็คือ เงินดาวน์ ยิ่งวางเงินดาวน์ต่ำ ก็มีความเสี่ยงสูงขึ้น โดยในส่วนของเงินดาวน์ปัจจุบันมีการลงมาเล่นที่เงินดาวน์ถึงต่ำ 0-5% ซึ่งจะเป็นแคมเปญพิเศษเฉพาะกลุ่ม เฉพาะรุ่น ดังนั้น หาก ธปท.จะควบคุมให้สินเชื่อนี้มีคุณภาพ ก็อาจเป็นการกำหนดเกณฑ์เงินดาวน์ขั้นต่ำก็ได้ เช่น วางเงินดาวน์ไม่ต่ำกว่า 10-20% หรือจะคุมเกณฑ์ดอกเบี้ยขั้นต่ำก็ได้เช่นกัน

สำหรับแนวโน้มของตลาดรถใหม่ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 8.8-9.2 แสนคัน ขยายตัว 10-15% โดยมูลค่าสินเชื่อในระบบจะอยู่ที่ 6.4 แสนล้านบาท เติบโต 28% ขณะที่คาดการณ์ถึงปี 2555 ยอดขายรถใหม่น่าจะขยายตัวต่อเนื่องในอัตรา 6-12% เป็นจำนวนรถใหม่ 9.5 แสนคัน-1.01 ล้านคัน และเชื่อว่าสินเชื่อจะขยายตัวถึง 30% เป็นมูลค่า 8.32 แสนล้านบาท

นายณรงค์ ศรีจักรินทร์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตลาดที่เติบโตร้อนแรงในวันนี้ เป็นผลจากการแข่งขันที่รุนแรง พร้อมกับตลาดรถใหม่ที่ขยายตัวค่อนข้างหนักในปีนี้ แต่เชื่อมั่นว่าไม่ใช่ภาวะฟองสบู่ เพราะสัดส่วนของรถยนต์ในไทยต่อจำนวนประชากรยังค่อนข้างน้อย และเมื่อดูจากตัวเลขการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อช่วงครึ่งปีแรก ขยายตัวประมาณ 20% ถือว่าไม่ได้มากจนผิดปกติ

"ยอมรับว่าการจะคุมการขยายตัวของสินเชื่อเช่าซื้อทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะจะล้อไปกับปริมาณการเติบโตของรถใหม่ ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยสะท้อนต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วย ดังนั้น การกำกับดูแลก็ต้องสมดุลไม่ให้กระทบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ"

ส่วนการกำกับดูแลด้วยเงื่อนไขการกำหนดเงินดาวน์ขั้นต่ำนั้น นายณรงค์เห็นว่า อาจจะช่วยได้บางส่วน แม้ว่าปัจจุบันจะเริ่มเห็นสัญญาณการแข่งขันเรื่องดาวน์ต่ำออกมาต่อเนื่อง ต่ำสุด 0-5% แต่ก็เป็นการจำกัดเฉพาะกลุ่ม เช่น เลือกเฉพาะรถบางรุ่น หรือลูกค้าบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ ขณะเดียวกันปริมาณธุรกรรมที่อยู่ในกลุ่มเงินดาวน์ต่ำกว่า 10% มีเพียง 10-15% เท่านั้น ถือว่าไม่เยอะมาก

ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1315361007&grpid=00&catid=no