วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

นโยบายภาษีรถคันแรก เริ่ม 4 ต.ค.54 ถึง 31 ธ.ค. 55

รัฐบาลจะเริ่มดำเนินโครงการอย่างเป็นทางการนโยบายภาษีรถคันแรก (คิกออฟ) ในวันที่ 4 ต.ค. นี้ เป็นต้นไป แต่นโยบายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. โดยยึดจากใบจองรถว่า ต้องเป็นใบจองซื้อรถที่ลงวันที่ตั้งแต่ 16 ก.ย. เป็นต้นไป จึงมีสิทธิเข้าร่วมโครงการดังกล่าว จนถึงวันสิ้นสุดโครงการที่ 31 ธ.ค. 55 โดยยึดถือว่า รถที่มีเอกสารครบทั้ง 7 รายการที่มายื่นในวันสุดท้ายนี้ จึงมีสิทธิเข้าร่วมโครงการอยู่ แม้ยังไม่ได้รับรถก็ตาม เมื่อมีผู้ไปสั่งจองรถ ธุรกรรมก็เกิดขึ้น และดำเนินการไปตามกลไกของภาคเอกชน รัฐบาลไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย แต่เป็นหน้าที่ของผู้ซื้อที่ต้องนำเอกสารมายื่นที่กรมสรรพสามิตให้ครบตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ จึงจะได้รับเงินคืน โดยรัฐบาลลดหย่อนภาษีสรรพสามิตให้สำหรับรถกระบะเชิงพาณิชย์ เริ่มเก็บภาษีสรรพสามิตที่ 3% ดับเบิลแค็บ 12% อีโคคาร์ 17% และรถยนต์นั่งกว่า 120%
ขอบคุณรูปภาพจาก กรุงเทพธุรกิจ bangkokbiznews.com

ผู้ซื้อรถโดยกู้เงินจากบริษัทลิสซิ่งนั้น รัฐบาลจะตีเช็คจ่ายคืนภาษีให้ผู้ซื้อรถ ในฐานะเป็นผู้ครอบครองรถ ไม่ใช่จ่ายให้บริษัทลิสซิ่ง ที่เป็นเพียงเจ้าของกรรมสิทธิ์รถแต่อย่างใด หากผ่อนไม่ไหวจนถูกยึดรถ ถ้าคืนรถอย่างถูกต้องจะให้ลิสซิ่งช่วยตามทวงภาษีคืนจากผู้ซื้อรถให้รัฐบาล ด้วย แต่ถ้าละทิ้งรถเลย กรมสรรพสามิตก็จะตามเรียกคืนภาษีอยู่ดี

มาตรการภาษีรถคันแรกนี้มาถูกทางแล้ว เพราะต้องการให้โอกาสกับคนที่ต้องการเริ่มต้นชีวิต และหากยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นเศรษฐกิจจะดีขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้มากขึ้นตามไปด้วย และไม่ได้สวนทางกับการประหยัดพลังงาน เพราะได้กำหนดที่รถยนต์ประหยัดพลังงาน ประเภทอีโคคาร์ รวมถึงเครื่องยนต์ขนาดไม่เกิน 1,500 ซีซี ที่ไม่ได้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากนักและทำเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้เริ่มต้นทำงาน ผู้มีรายได้น้อย ดังนั้น ต้องคืนเงินให้ผู้ซื้อ ไม่ใช่ให้สถาบันการเงิน เราต้องแยกเป็น 2 ส่วน โดยให้การดำเนินธุรกรรมซื้อขายรถยนต์เป็นไปตามปกติ แต่แยกในส่วนของการคืนภาษีออกมา ซึ่งเป็นภาระของผู้ซื้อเองที่ต้องมาขอคืนภาษีที่สรรพสามิตทั่วประเทศ และต้องทำตามเงื่อนไขที่กำหนด หากทำไม่ได้ก็จะถูกเรียกเงินคืนย้อนหลัง

รัฐบาลจะคืนภาษีให้ในอีก 1 ปีข้างหน้า ดังนั้น ระหว่างที่ยื่นขอคืนภาษีไว้แล้วนั้น กรมสรรพสามิตจะเป็นผู้ตรวจสอบเองว่า ผู้ที่มาขอคืนภาษีนั้น มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้รวมถึงกรณีที่กรมการขนส่งทางบกระบุว่า ไม่มีฐานข้อมูลการตรวจสอบรายชื่อทะเบียนย้อนหลังตั้งแต่ปี 49 ลงไปนั้น กรมฯ จะหาแนวทางตรวจสอบเอง แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่หากพบว่ามีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่กำหนดนั้น  กรมฯ จะติดตามเรียกเงินภาษีคืน ซึ่งยอมรับว่าการคืนภาษีครั้งนี้ ไม่มีกลไกตามภาษีคืน และไม่มีค่าปรับเงินเพิ่ม เหมือนกับการไม่จ่ายภาษีกรมสรรพากร รัฐบาลต้องใช้กฎหมายแพ่งตามฟ้องเรียกภาษีคืนจากผู้ซื้อรถเป็นราย ๆ ไป

หลักฐานเอกสารสำหรับนโยบายภาษีรถคันแรก 7 อย่าง ได้แก่
1 แบบคำขอคืนภาษีฯ
2 สำเนาบัตรประชาชน
3 สำเนาทะเบียนบ้าน
4 สำเนาหนังสือเช่าซื้อ
5 สำเนาคู่มือการจดทะเบียนรถ
6 หนังสือยินยอมสละสิทธิการโอนภายใน 5 ปี
7 หลักฐานการซื้อรถยนต์

นำเอกสารให้ที่กรมสรรพสามิตพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งกรมฯ จะใช้เวลา 7 วัน ยืนยันการได้รับคืนภาษี และผู้ซื้อจะได้รับเงินคืนภายหลัง 1 ปีนับจากวันที่ซื้อ